เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย

จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ยังไง ?

子供の認知

  

เป็นที่สอบถามกันเข้ามามากเลยนะครับ   “หนูท้องกับเขาแล้ว เขาไม่ยอมแต่งงานกับหนู หนูต้องทำยังไงดีคะ?”  “แฟนหนูเขาหนีไปแล้วคะ ไม่ยอมรับเด็กเป็นลูก ไม่ยอมส่งเสีย” “แล้วเรื่องมรดกละคะ ถ้าฝ่ายชายตายแล้ว ลูกหนูจะได้รับมรดกก้อนนี้ด้วยไหม?”  “ทำยังไงให้ไอ้ผู้ชายหั**** มารับผิดชอบได้คะ”

ต้องยอมรับนะครับว่ายุคสมัยนี้ ชายและหญิงสามารถคบหา พบปะ ดูใจกันได้ง่ายมากๆ อาจด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาขึ้นไปมาก เช่น แอพพลิเคชั่นเอย เฟสบุคเอย พบปะกันง่ายเลยทำให้ท้องกันได้ง่ายๆตั้งแต่อายุกันน้อยๆกันเลยนะครับ

ส่วนวิธีแก้ไขตามกฎหมาย คือ การรับรองบุตร  โดยจะอธิบายสั้นๆตามนี้นะครับ

 

เด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546

 

การรับรองบุตร เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้บุตรนอกสมรสเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้ โดยสิทธิต่างๆของบุตร มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่เด็กเกิด โดยไม่คำนึงว่าเด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เมื่อไหร่

 

หากฝ่ายชายมีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเด็ก ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ แสดงว่าฝ่ายชายยังไม่ได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็ก และไม่ก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมายกับตัวเด็ก แต่กฎหมายให้สิทธิของฝ่ายชายสามารถขอดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตร ให้เด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้

 

ดังนั้น เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้อย่างไร ?

 

การที่เด็กจะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้น สามารถทำได้ 3 วิธีการตาม ป.พ.พ.มาตรา 1547

 

1) บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อบิดามารดาโดยสายโลหิตได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาก่อนแล้วก็จะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาไปด้วย

 

           2) บิดาดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับความยินยอมจากทั้งมารดาและเด็ก

 

3) ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งศาลเพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา  โดยให้ทนายความยื่นคำร้องขอรับรองบุตร ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวในเขตพื้นที่ภูมิลำเนาที่เด็กนั้นมีถิ่นที่อยู่  คุณจะมีสิทธิในการใช้อำนาจปกครองร่วมกันกับมารดาของเด็ก   หากคุณต้องการอำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว โดยคุณจะต้องแจ้งกับทนายความเพื่อให้ทนายความยื่นคำร้องขอรับรองบุตรและร้องขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว

 

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง เรื่องการขอรับรองบุตร

 

มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

 

มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อ เมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก

 

     ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้า เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่การ แจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน

 

     ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ต้องมีคำพิพากษาของศาล

 

     เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้

 

มาตรา 1555 ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

 

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

 

(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

 

(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

 

(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

 

(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

 

(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

 

(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

   พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น

 

   ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

 

มาตรา 1556 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรในระหว่างที่เด็กเป็นผู้เยาว์ ถ้าเด็กมีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทน ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือมีแต่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ญาติสนิทของเด็กหรืออัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเพื่อทำหน้าที่ฟ้องคดีแทนเด็กก็ได้

 

    เมื่อเด็กมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม

 

    ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปีนับแต่วันบรรลุนิติภาวะ

 

    ในกรณีที่เด็กตายในระหว่างที่เด็กนั้นยังมีสิทธิฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรอยู่ ผู้สืบสันดานของเด็กจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรก็ได้ ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรมาก่อนวันที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย ถ้าผู้สืบสันดานของเด็กได้รู้เหตุที่อาจขอให้รับเด็กเป็นบุตรภายหลังที่เด็กนั้นตาย ผู้สืบสันดานของเด็กจะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้เหตุดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ ต้องไม่พ้น 10 ปีนับแต่วันที่เด็กนั้นตาย

 

มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้

 

มาตรา 1558 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของผู้ตายที่ได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความมรดก ถ้าศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เด็กนั้นมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

 

   ในกรณีที่ได้มีการแบ่งมรดกไปแล้ว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยเรื่องลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

มาตรา 1559 เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481

ภาค 5 ครอบครัว

 

มาตรา 29 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามีของมารดาในขณะที่บุตรนั้นเกิด ถ้าหากในขณะที่กล่าวนั้น สามีได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของสามีในขณะที่ถึงแก่ความตายให้ใช้กฎหมายเช่นเดียวกันบังคับการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร

 

มาตรา 30 สิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดา

 

    ในกรณีที่เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย สิทธิและหน้าที่ระหว่างมารดากับบุตร ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของมารดา

 

มาตรา 31 การรับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาในขณะที่รับเป็นบุตร ถ้าหากในขณะนั้นบิดาได้ถึงแก่ความตายเสียแล้ว ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดาขณะที่ถึงแก่ความตาย

 

 

 

 

เป็นยังไงกันบ้างละครับ กับข้อมูลเรื่องการรับรองบุตร  สามารถสอบถามกฏหมายอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานกฏหมายไทยไซจู  

 

Tel:091-068-8203

Line ID: thaizaijyuu-law

 

 


เวลาทำการ

 

เปิดทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น.

ปิดทำการ : วันเสาร์อาทิตย์ / วันหยุดราชการ / วันหยุดนักขัตฤกษ์

(หากมีเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง)

 

หมายเหตุ ผู้ที่ต้องการ “ปรึกษากฏหมายกับทนายความ” ที่สำนักงานของเราโปรดติดต่อจองเวลาทางโทรศัพท์

การปรึกษาทางกฎหมาย (จองห้องประชุม) จะจัดขึ้นที่สำนักงานสาขากรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังสามารถ

 

ให้คำปรึกษานอกสถานที่ (สถานที่ที่ลูกค้ากำหนด) เช่นค่าเดินทางคิดแยกต่างหาก